ไปรษณีย์ไทย ปีที่แล้ว กลับมากำไร 79 ล้าน หลังขาดทุนติดกัน มา 2 ปี | BrandCase
ผลประกอบการ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
ปี 2564 รายได้ 21,226 ล้านบาท ขาดทุน 1,730 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 19,546 ล้านบาท ขาดทุน 3,018 ล้านบาท
ปี 2566 รายได้ 20,934 ล้านบาท กำไร 79 ล้านบาท
วันนี้ ไปรษณีย์ไทย ได้จัดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ ซึ่งภายในงาน คุณบิ๊ก-ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้พูดถึงเรื่องอินไซต์ต่าง ๆ
ทั้งภาพรวมรายได้การเติบโตของไปรษณีย์ไทย การแข่งขันของตลาดขนส่ง และทิศทางการขยายธุรกิจของไปรษณีย์ไทยในปี 2567
ซึ่งภายในงานนี้มีเรื่องอะไรน่าสนใจบ้าง ?
BrandCase สรุปให้ เป็นข้อ ๆ
1. ที่ผ่านมา ไปรษณีย์ไทย เจออะไรมาบ้าง ?
ในช่วงปี 2564-2565 ไปรษณีย์ไทยเคยเจอภาวะขาดทุนติดต่อถึงกัน 2 ปี
ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ ก็มาจากการแข่งขันที่รุนแรง เนื่องจากการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ส่งผลให้มีผู้ให้บริการขนส่งพัสดุรายใหม่เข้ามาในตลาด และเจ้าใหม่เหล่านี้ก็เสนอราคาที่ต่ำกว่าไปรษณีย์ไทย
บวกกับต้นทุนของธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นและต้นทุนการจ้างงานพนักงาน
ในขณะที่รายได้จากธุรกิจหลักของไปรษณีย์ไทยอย่างการส่งจดหมายกลับลดลง
ทำให้ผลประกอบการ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาขาดทุน
ปี 2564 รายได้ 21,226 ล้านบาท ขาดทุน 1,730 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 19,546 ล้านบาท ขาดทุน 3,018 ล้านบาท
2. รายได้ของ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ในปี 2566
ในปี 2566 ที่ผ่านมา ไปรษณีย์ไทย สามารถทำรายได้รวม 20,934.47 ล้านบาท เติบโตสูงขึ้น 7.40%
โดยมีกำไรอยู่ที่ 78.54 ล้านบาท
โดย คุณบิ๊ก-ดร.ดนันท์ ได้ให้เหตุผลว่า “เนื่องจากภาพรวมของตลาดขนส่งในปีที่ผ่านมายังมีการเติบโตตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และจากการให้บริการกับตลาดต่าง ๆ
รวมทั้งการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ไปรษณีย์ไทยมีการเติบโต ทั้งด้านรายได้และปริมาณชิ้นงานขนส่งที่เพิ่มขึ้นในปี 2566”
สัดส่วนรายได้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ในปี 2566 ดังนี้
– กลุ่มบริการขนส่งและโลจิสติกส์ 45.56%
– กลุ่มบริการไปรษณียภัณฑ์ 33.85%
– กลุ่มบริการระหว่างประเทศ 13.43%
– กลุ่มบริการค้าปลีกและการเงิน 4.90%
– กลุ่มธุรกิจอื่น ๆ 0.96%
– รายได้อื่น ๆ 1.30%
3. ปัจจัยที่ทำให้รายได้ของ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เติบโตขึ้น มีอะไรบ้าง ?
รายได้หลักที่มาจากธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีสัดส่วนรายได้สูงสุด เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 19.35%
โดยปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มาจาก
– การให้บริการที่ครอบคลุมผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม
– จุดให้บริการที่สะดวก ง่ายต่อการเข้าถึง ซึ่งครอบคลุมแล้วกว่า 30,000 แห่ง
– พัฒนาประสบการณ์ในการใช้บริการอย่างต่อเนื่อง และควบคุมคุณภาพตลอดกระบวนการให้บริการ
อีกทั้งยังพบว่าจากรายได้ในส่วนนี้ มีสัดส่วนรายได้ที่มาจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ อยู่ที่ประมาณ 25-30%
นอกจากนี้ในกลุ่มบริการค้าปลีกและการเงินมีรายได้เติบโตขึ้น 34.26% ซึ่งมาจากการขายสินค้า House Brand “ตราไปร” ของไปรษณีย์ไทยเอง
ปัจจุบันมีทั้งหมด 3 sku คือ กาแฟ ข้าวสาร และน้ำดื่ม
ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าที่มีน้ำหนักค่อนข้างมาก แต่เป็นสิ่งที่คนต้องบริโภคอยู่ตลอดเวลา
จึงนำสินค้าประเภทนี้มาเป็นจุดขาย ซื้อข้าวซื้อน้ำกับไปรษณีย์ไทย ไม่มีค่าส่ง ไม่จำกัดจำนวน และไม่ต้องแบกเองเพราะบริการส่งถึงที่
แล้ว ไปรษณีย์ไทย ขายสินค้าเหล่านี้ได้อย่างไร โดยไม่คิดค่าส่ง ?
เรื่องนี้ คุณบิ๊ก-ดร.ดนันท์ ได้เปิดเผยให้ฟังว่า “ที่ไม่มีค่าส่ง เนื่องจากบริษัทมีอินไซต์ข้อมูล และเห็นแพตเทิร์นการวางสินค้าในรถขนส่งและมีพื้นที่ว่าง
โดยเฉพาะในวันที่มีการส่งสินค้าจำนวนน้อยชิ้น อย่างวันเสาร์-อาทิตย์ พื้นที่ในรถขนส่งก็จะมีที่ว่างเพิ่มขึ้น เราจึงใช้พื้นที่ตรงนี้ขนส่งสินค้า House brand ได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม”
– ต้นทุนการขนส่งลดลงกว่า 30% เนื่องจาก ไปรษณีย์ไทย มีการปรับระบบการขนส่งโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพขึ้น เช่น การปรับระยะทางให้รถขนส่งวิ่งในระยะทางที่สั้นลง
4. แนวโน้มการแข่งขันและตลาดการขนส่งในปี 2567
โดย คุณบิ๊ก-ดร.ดนันท์ มองว่า ธุรกิจขนส่งจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นอีกในปีนี้ เนื่องจากเป็นหนึ่งในภาคบริการที่เชื่อมต่อกันทั้งเศรษฐกิจและสังคม
แต่อย่างไรก็ตามการสร้างความแตกต่างที่ตอบสนองความต้องการระยะยาว จากการเป็นผู้ที่เข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
รวมถึงความตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่ไปรษณีย์ไทยให้ความสนใจ
นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทยยังมองว่า หากในอนาคตมีการเปิดให้ผู้บริโภคที่ใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ สามารถเลือกขนส่งได้เอง ก็จะเป็นอีกตัวช่วยที่ทำให้รายได้ของ ไปรษณีย์ เติบโตขึ้นได้อีกในอนาคต
นอกจากนี้บริษัทยังเจออินไซต์จากทั่วประเทศว่า พ่อค้าแม่ค้าที่ขายของในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมีความต้องการอยากใช้ขนส่งเจ้าอื่น ๆ
แต่ติดปัญหาคือ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเหล่านี้ บังคับให้ผู้ใช้งานเลือกขนส่งที่เป็นบริการของตัวเองเท่านั้น
ซึ่งบริษัทมองว่าการทำการตลาดแบบนี้ เป็นการกีดกันทางธุรกิจ
และขนส่งทั้งหมดที่อยู่ในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเหล่านี้ไม่มีเจ้าไหนที่เป็นบริษัทของคนไทยเลย
ดังนั้นหนึ่งในเป้าหมายในปีนี้ของไปรษณีย์ไทยคือ การเจรจาทางธุรกิจและปรับสนามการแข่งขันให้เป็นความร่วมมือเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในตลาดขนส่งโลจิสติกส์
เพราะสุดท้ายแล้ว ธุรกิจโลจิสติกส์ เป็นการแข่งขันที่ไม่มีวันสิ้นสุด เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา..
5. ตั้งเป้าเพิ่มบริการและสินค้าภายในประเทศ เตรียมขยายธุรกิจออกนอกประเทศ
โดยบริษัทคาดว่าจะมีรายได้รวมปี 2567 นี้ อยู่ที่ประมาณ 22,802 ล้านบาท และคาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 350 ล้านบาท
จากกลุ่มบริการหลัก ได้แก่ บริการขนส่งและโลจิสติกส์ บริการไปรษณียภัณฑ์ บริการค้าปลีก บริการการเงิน และบริการคลังสินค้า
และหนึ่งในตัวอย่างแผนธุรกิจของไปรษณีย์ไทยในอนาคตที่น่าสนใจก็คือ
การปรับเปลี่ยนรถยนต์ขนส่งเป็น รถยนต์ไฟฟ้า
ซึ่งจะค่อย ๆ เปลี่ยนไปตลอดในช่วง 5 ปีข้างหน้า
โดยคาดว่าจะสามารถลดต้นทุนของเชื้อเพลิงได้ถึง 70% See less