Carrian Group มหากาพย์การปั่นหุ้นโกงที่สุดในประวัติศาสตร์ ฮ่องกง | MONEY LAB
หากใครเคยดูหนังฮ่องกงเรื่อง The Goldfinger หรือชื่อภาษาไทยว่า “โคตรพยัคฆ์ชน คนมือทอง”
จะเห็นว่า ในหนังพูดถึงเรื่องกลโกงการปั่นหุ้นของบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายหนึ่ง ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้กับฮ่องกง
รู้ไหมว่าจริง ๆ แล้ว หนังเรื่องนี้สร้างมาจากเรื่องจริง โดยอ้างอิงกับเหตุการณ์ของบริษัท Carrian Group
แล้วเรื่องราวของ Carrian Group เป็นอย่างไร ?
ทำไมถึงกลายเป็นการปั่นหุ้นครั้งประวัติศาสตร์
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
Carrian Group เป็นกลุ่มบริษัทที่ถูกก่อตั้งขึ้นมาในปี 1977 โดยวิศวกรชาวสิงคโปร์ที่ย้ายมาทำงานที่ฮ่องกง ชื่อว่า George Tan
George Tan เริ่มเข้ามาทำงานในฮ่องกงเมื่อปี 1972 โดยทำหน้าที่เป็นวิศวกรควบคุมงานก่อสร้าง
หลังจากทำงานเป็นวิศวกรมา 5 ปี เขาก็เริ่มก่อตั้งธุรกิจเป็นของตัวเอง ซึ่งเป็นธุรกิจเกี่ยวกับการกำจัดสัตว์รบกวนตามสถานที่ต่าง ๆ และเริ่มก่อตั้งบริษัท Carrian Group ให้เป็นบริษัทโฮลดิง ในปีเดียวกัน
ในเวลานั้น ฮ่องกงกำลังเปลี่ยนตัวเองจากเมืองท่าสำคัญในเอเชีย ให้กลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินแห่งใหม่ของโลก
บริษัทมากมายจากทั่วทุกมุมโลกในเวลานั้น เริ่มสนใจเข้ามาจัดตั้งสำนักงานแห่งใหม่ในฮ่องกง ความต้องการเช่าพื้นที่ในอาคารสำนักงานเริ่มมากขึ้น
ในปี 1978 Carrian Group จึงเริ่มลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยการกว้านซื้อที่ดินในย่าน New Territories ของฮ่องกง
และในช่วงปลายปี 1979 เกมปั่นหุ้นของ Carrian Group ก็ได้เริ่มต้นขึ้น
โดย Carrian Group ตัดสินใจเข้าซื้อหุ้นของบริษัท Mai Hon Enterprises ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง เป็นสัดส่วน 52% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท ที่ราคา 6 ดอลลาร์ฮ่องกง
ดีลการเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ เป็นที่ฮือฮาอย่างมากในตลาดหุ้นฮ่องกงในยุคนั้น เพราะตอนนั้นราคาหุ้นของ Mai Hon Enterprises ถูกซื้อขายกันในตลาดอยู่ที่ 1.5 ดอลลาร์ฮ่องกงเท่านั้น
พูดง่าย ๆ ก็คือ Carrian Group ประกาศรับซื้อหุ้นในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดถึง 4 เท่า
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ก็ทำให้เหล่านักลงทุนรายย่อยจนถึงนักลงทุนรายใหญ่ แข่งกันกว้านซื้อหุ้นของ Mai Hon Enterprises กันอย่างบ้าคลั่ง
จนราคาหุ้นพุ่งขึ้นจาก 1.5 ดอลลาร์ฮ่องกง ไปหยุดอยู่ที่ 5.9 ดอลลาร์ฮ่องกง ภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือน หรือปรับขึ้นถึง 293%
การที่ Carrian Group ซึ่งเป็นบริษัทนอกตลาดหุ้น เข้ามาซื้อหุ้นของบริษัทที่อยู่ในตลาด จนมีอำนาจควบคุมบริษัทแบบนี้ เป็นการทำให้ Carrian Group สามารถเข้าตลาดหุ้นได้ทางอ้อม
และเราเรียกวิธีการนี้ว่า Backdoor Listing
ซึ่งการเข้าตลาดหุ้น ด้วยวิธีการนี้ จะทำให้บริษัทที่มีเรื่องไม่โปร่งใส หลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบไปได้
หลังจากเข้าซื้อหุ้นแล้ว Carrian Group ก็เปลี่ยนชื่อบริษัท Mai Hon Enterprises ใหม่เป็น Carrian Investments Limited
พอผ่านไปเพียงแค่เดือนเดียว บริษัทก็ประกาศข่าวใหญ่สะเทือนวงการอสังหาฯ ของฮ่องกง
นั่นคือ การเข้าซื้อตึกอาคารสำนักงานชื่อ Gammon House จากบริษัท Hongkong Land คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 35,000 ล้านบาท
ไม่กี่เดือนต่อมาบริษัทก็ประกาศว่า มีผู้สนใจซื้อตึกนี้ต่อจากบริษัท โดยเสนอราคาซื้อขายกันอยู่ที่ 59,000 ล้านบาท เท่ากับบริษัทจะได้กำไรจากดีลนี้ประมาณ 70%
เมื่อมีข่าวใหญ่สะเทือนวงการแบบนี้ ก็ทำให้ราคาหุ้นของ Carrian Investments พุ่งขึ้นมาถึงจุดสูงสุดที่ 17.9 ดอลลาร์ฮ่องกง ภายใน 1 ปี
เมื่อราคาหุ้นเพิ่มมากขึ้นขนาดนี้ Carrian Investments ก็ตัดสินใจขยายกิจการครั้งใหญ่ โดยการนำหุ้นที่มีราคาสูงของบริษัท ไปแลกหุ้นกับบริษัทอื่น เพื่อครอบครองกิจการอื่นแบบไม่ต้องใช้เงินสด
Carrian Investments เดินหน้าซื้อกิจการมาเรื่อย ๆ จน Carrian Investments กลายเป็นบริษัทที่มีธุรกิจอยู่ในหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจอสังหาฯ, ธุรกิจประกัน, ธุรกิจท่องเที่ยว ไปจนถึงธุรกิจให้เช่ารถแท็กซี่
ไม่เพียงแต่มีธุรกิจในฮ่องกงเท่านั้น Carrian Investments ยังขยายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของตัวเองออกไปยังต่างประเทศด้วย เช่น ไต้หวัน, ไทย, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สหรัฐอเมริกา และแคนาดา
แต่ยิ่งธุรกิจมีขนาดใหญ่มากขึ้น ความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินสดก็ยิ่งมีมากขึ้น
ทำให้ Carrian Investments นำหุ้นของบริษัทไปเป็นหลักประกันในการขอกู้ยืมเงินจากธนาคาร รวมถึงการออกหุ้นเพิ่มทุนด้วย
Carrian Investments กลายเป็นหุ้นขวัญใจนักลงทุนชาวฮ่องกงได้ไม่นาน ก็ถึงเวลาที่งานเลี้ยงจะต้องเลิกรา
ในปี 1982 ตลาดอสังหาฯ ในฮ่องกงเริ่มซบเซา ราคาอสังหาฯ เริ่มปรับตัวลดลง Carrian Investments ที่มีธุรกิจหลักเป็นอสังหาฯ จึงได้รับผลกระทบตามไปด้วย
บริษัทเริ่มออกมายอมรับว่า กำลังขาดสภาพคล่องอย่างหนัก ในขณะที่เจ้าหนี้ซึ่งก็คือธนาคาร ต่างกดดันให้ Carrian Investments ขายทรัพย์สินของบริษัท เพื่อมาชดใช้หนี้
ตอนนั้นราคาหุ้นของบริษัท ร่วงจากจุดสูงสุดที่ 17.9 ดอลลาร์ฮ่องกง ลงมาเหลือ 1.1 ดอลลาร์ฮ่องกง
ซึ่งทำให้ความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้นหายไปมากถึง 94% เลยทีเดียว และจากหุ้นขวัญใจของนักลงทุน ก็กลายเป็นหุ้นที่ไม่มีใครต้องการอีกแล้ว
ในปี 1983 ตลาดหุ้นฮ่องกงได้ระงับการซื้อขายหุ้นของ Carrian Investments เพื่อทำการสอบสวนบริษัท เรื่องการฉ้อโกง
ผลปรากฏว่า ข่าวการซื้อตึก Gammon House ที่ Carrian Investments เคยประกาศนั้น เป็นข่าวปลอม โดยความจริงคือไม่มีผู้ซื้อตึก ตามที่บริษัทได้กล่าวอ้างเลย
นอกจากนี้ยังมีการติดสินบนผู้บริหารระดับสูงของธนาคารต่าง ๆ เพื่อให้อนุมัติเงินกู้ยืมได้ง่ายขึ้น
ทำให้ในที่สุด George Tan เจ้าของบริษัท Carrian Investments ก็ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
การสอบสวนใช้เวลานานถึง 17 ปี นับเป็นคดีปั่นหุ้น ที่กินเวลาสอบสวนนานที่สุด และร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของฮ่องกง
ทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุน และนักธุรกิจ ที่มีต่อความน่าเชื่อถือของตลาดการเงินของฮ่องกง
ถ้าในวันนั้น หน่วยงานกำกับดูแลของฮ่องกงไม่สามารถนำคนผิดมาลงโทษได้
ในวันนี้ ฮ่องกง ก็อาจไม่ได้มีสถานะเป็นศูนย์กลางทางการเงินของเอเชีย เลยก็ได้..
References
-https://www.icac.org.hk/…/landma…/carrian/eng/index.html
-https://www.digfingroup.com/the-goldfinger/
-https://www.upi.com/…/Hong-Kong-success…/1782509605200/
-https://www.wallstreetmojo.com/share-swap/#.